เว็บจองห้อง KMITL OSRS โปรเจ็กต์เดียว 3 วิชา

กลับมาสู่ช่วงโปรเจ็กต์อีกแล้ว ครั้งนี้เป็นโปรเจ็กต์ปีสองเทอมสอง ควบทีเดียว 3 วิชา (ISAD, Database, WebPro) ที่ให้ทำเว็บด้วยภาษา Java ซึ่งเราก็เลือกทำเว็บที่เป็นระบบจองสถานที่ออนไลน์ภายในสถาบันพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังของเรา ในชื่อว่า KMITL Online Space Reservation System (KMITL OSRS)

งานเอกสาร

ก่อนที่เราจะเข้าสู่กระบวนการลงมือโค้ดจริงๆ ก็เป็นช่วงการวางแผนก่อน ซึ่งเป็นงานของวิชา Information System Analysis and Design (ISAD, หรือที่เรียกว่า I-sad หรือ i-s*s) โดยงานของวิชานี้ก็คือการออกไปเก็บความต้องการ (requirements) จากกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ระบบของเรา และเขียน use case diagram, activity diagram, data flow diagram, swim lane diagram เพื่อแสดงการทำงานของระบบออกมาเป็นแผนภาพ รวมทั้งทำผังจัดเฟสการทำงานอย่าง Gantt chart ด้วย

  • Word: ทำเอกสาร
  • Lucidchart: ทำแผนภาพ

เก็บความต้องการ

ทีมเราไปเก็บความต้องการกันหลายรอบ ออกเดินทางไปเกือบทั่วสถาบันเพื่อไปติดต่อกับงานสถานที่ (หรือที่เกี่ยวข้อง) ของคณะต่างๆ ว่ามีระบบการรับจองสถานที่อย่างไร และจากการออกไปรับฟังความต้องการนี้เองทำให้เราทราบว่า

  • ส่วนใหญ่มีการทำงานแบบเดียวกันคือ กรอกฟอร์มในกระดาษ แล้วเจ้าหน้าที่จะเอาไปจัดตารางในคอมฯ กันอีกที เช่นใน Outlook, Google Calendar
  • คณะวิศวะมีเจ้าหน้าที่จัดการห้องกว่าร้อยห้องเพียงคนเดียว (สตรองมาก)
  • บางคณะเคยคิดระบบที่ง่ายขึ้น เช่น ให้อาจารย์ไลน์ไปหาเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเดินมาติดต่อเองง่ายกว่า
  • ถ้ามีระบบใหม่ เจ้าหน้าที่ก็พร้อมและยินดีจะเปลี่ยนมาใช้งาน

ดังนั้นเป้าหมายของระบบที่เรากำลังจะสร้างคือ

  • ต้องน่าใช้และใช้งานง่าย
  • จองได้ในไม่กี่คลิก
  • ลดการใช้กระดาษ

Technology Stack

เริ่มพัฒนา!

เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการทำโปรเจ็กต์นี้ ตั้งแต่ประชุมครั้งแรกจนถึงวันพรีเซนต์งาน ซึ่งก็เป็นทั้งการโค้ดและการทำเอกสารต่างๆ ควบคู่กันไป เรามีนัดประชุมกันหลายครั้ง เพื่อปรับความเข้าใจในตัวโปรเจ็กต์ให้ตรงกันอยู่เสมอ ทุกคนจะได้เข้าใจว่าระบบของเราจะทำงานอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร

ในเฟสแรกเราต้องการให้ระบบสามารถทำงานในฟังก์ชันพื้นฐานได้ก่อน ก็คือ หาสถานที่ จองสถานที่ ยกเลิกคำร้อง อนุมัติ/ปฏิเสธคำร้อง เพิ่ม/ลบสถานที่ เพิ่ม/ลบอุปกรณ์ให้ยืม เพิ่ม/ลบประเภทสิทธิ์ผู้ใช้

หน้าที่หลักๆ ของผมคือการทำส่วนติดต่อผู้ใช้ คือเว็บด้านหน้านั่นเอง ความท้าทายในส่วนนี้ก็มีอยู่สองอย่าง

  1. เว็บไซต์ต้องใช้งานง่าย มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ไม่รก ต้องให้ผู้ใช้ที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสามารถใช้งานได้ไม่ลำบาก
  2. การทำตารางเวลาสถานะการใช้งานห้อง ในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดที่เราต้องระดมสมองกันอยู่นาน

สำหรับตารางการใช้งานห้องนั้น เนื่องจากมีเวลาที่สามารถจองได้ถึง 22 ช่วงเวลา ตั้งแต่ 9 น. จนถึง 20 น. (ที่มันเป็น 22 ช่วงเพราะนับเป็น 9.00–9.30, 9.30–10.00, 10.00–10.30, …) และเราจะต้องเอา 22 ช่วงเวลานี้ไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ โดยที่มันต้องบอกสถานะการใช้งานห้องได้เลย และก็ต้องเห็นแล้วเข้าใจง่ายด้วย ทีแรกเราออกแบบเป็นปุ่มกลมๆ ให้คลิกเพื่อเลือกเป็นเวลา แต่ดูแล้วมันไม่เวิร์ก อาจารย์หลายท่านบอกว่าเข้าใจยาก ซึ่งมันก็ต้องทำความเข้าใจในระดับหนึ่งจริงๆ

หลังจากผ่านการระดมความคิดกันอีกที ตารางเวลาแบบที่สองจึงออกมาเป็นช่องที่หน้าตาเหมือนตารางมากขึ้น เมื่อเอาไปทดสอบกับเจ้าหน้าที่ของคณะดูแล้ว ก็เห็นได้ว่าไม่มีการงงว่ามันคืออะไร

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราได้ใช้เวลาสามเดือนทยอยพัฒนาระบบไปเรื่อยๆ การทำงานครั้งนี้ก็ไม่ได้ยึดตาม SDLC อะไรเป็นพิเศษครับ 😂😂 เป็นโฟลวธรรมดา Planning > Analysis > Design > Implementation > Test

สุดท้ายก็สามารถโค้ดเสร็จก่อนส่งได้ประมาณ 2 วัน จึงมีเวลาทดสอบและแก้บั๊ก และตรวจสอบเอกสารอีกที เพื่อให้อัพโหลดส่งวิชา ISAD ได้ในวันจันทร์

ส่งงานวิชา ISAD

และแล้วก็มาถึงวันส่ง มีกำหนดปิดระบบ FTP เวลาเที่ยงตรง และเราก็เพิ่งเจอบั๊กใหม่ตอน 10 โมงกว่าๆ รวมกับการเช็คเอกสารอีกทีไปด้วย ทำให้ตอนนั้นก็ค่อนข้างวุ่นวาย แต่เราก็จัดการแก้ไขเวอร์ชันของโค้ดใน VM เสร็จตอน 11 โมงครึ่งกว่าๆ (เราเลือกส่งเป็น VM เพื่อลดความเสี่ยงว่าไปรันในเครื่องที่ห้องพรีเซนต์ไม่ได้ คือมันเป็นเกณฑ์คะแนนหนึ่งด้วยว่าระบบต้องทำงานได้โดยไม่พึ่งอินเทอร์เน็ต พูดอีกง่ายๆ คือเปิดจากเว็บพรีเซนต์ไม่ได้ ต้องรันในเครื่อง)

ทุกคนรีบอัพโหลดไฟล์

เมื่อแฟ้มเอกสารพร้อมแล้ว เราก็รีบไปขอรหัสเข้า FTP และไปอัพงานกันต่อ จะหนักก็ตรงอัพโหลดไฟล์ VM ขนาดเกือบ 8 GB ภายในเวลา 20 นาทีนั่นแหละ ปกติแล้วมันจะไม่ใช่ปัญหาเลยแต่วันนั้นความเร็วอัพโหลดกลับไม่มากพอให้เสร็จได้ทัน เลยต้องไปส่งอีกทีในรอบสองซึ่งเปิดให้อัพโหลดได้ 1 ชั่วโมง แต่ก็แลกด้วยการลดคะแนน 5 คะแนน เราจึงต้องยอม และเพิ่งมาพบทีหลังว่าอัพโหลด VM ไปผิดเวอร์ชัน…

หลังจากนั้นในวันอังคารเราก็ได้ลองเช็คลองปะติดปะต่อเหตุการณ์ดู ก็พบว่าจริงๆ แล้วเราน่าจะอัพโหลดไฟล์ไปถูกแล้วนั่นแหละ 🤦‍♂️🤦‍♂️

พรีเซนต์ Database

วิชา Database เป็นวิชาแรกที่ต้องนำเสนอ และก็เป็นกลุ่มแรกในคิวเลยด้วย เรารีบไปเตรียมตัวก่อน 9 โมง และพอถึงเวลาก็เริ่มการนำเสนอได้ แต่ด้วยความที่ยังเตรียมตัวไม่ดีพอ จึงนำเสนอไปไม่ดีเท่าที่ควร

  • ตอนเปิดการนำเสนอเราเน้นที่ที่มาที่ไปมากเกินไป ซึ่งมันควรจะไปอยูา่ในการนำเสนอของ ISAD มากกว่า
  • สาธิตการใข้งานเว็บได้ไม่ครบถ้วนเพราะมีเวลาจำกัด
  • แสดงการ query ฐานข้อมูลได้ไม่ตรงกับที่อาจารย์ต้องการ คืออาจารย์ต้องการ query ที่เป็นแบบรายงานผล เช่น ในเดือนนี้ คณะนี้มีการจองห้องกี่ครั้ง เป็นต้น
  • โปรแกรมที่ใช้นำเสนอการ query ไม่สามารถแสดงอาเรย์ของ PostgreSQL ได้

พรีเซนต์ ISAD

หลังจากที่เจอความไม่พร้อมจากการนำเสนอในวิชา Database มา เราจึงเตรียมตัวสำหรับการนำเสนอ ISAD ให้รอบคอบมากขึ้น

  • แบ่งเวลาว่าพูดแต่ละหัวข้อกี่นาที สาธิตกี่นาที เพื่อให้ทั้งหมดนี้เสร็จภายใน 15 นาที เพราะมีเวลานำเสนอ 20 นาทีและเราต้องเผื่อเวลาเซ็ตอัพระบบไว้ด้วย ซึ่งเราก็ต้องใช้เวลาให้ตรงตามนี้เป๊ะๆ ไม่เกิน
  • แบ่งว่าใครจะนำเสนอส่วนไหน จะได้ไม่ไปงงกันในห้อง
  • ลำดับการสาธิตฟีเจอร์ต่างๆ ไปตาม Use Case
  • ทดลองดาวน์โหลดไฟล์จากคอมฯ ในห้องที่นำเสนอว่าใช้เวลาเท่าไร และแตกไฟล์อีกเท่าไร เพื่อเอามาวางแผนการใช้เวลาด้วย
  • เช็คการทำงานของระบบเพื่อหาบั๊กอีกรอบ
  • จัดการเวลาว่า ในขณะที่กำลังพูดนำเสนอ ให้ตั้งมอนิเตอร์เป็นแบบ extended เพื่อที่บนคอมฯ เราจะได้ดาวน์โหลดและเตรียม VM ไปเลย ไม่เสียเวลา
  • ต้องเอาโน้ตบุ๊กไปตั้งด้านหน้าเพื่อให้มองเห็นเวลาที่ใช้ และให้อ่านโน้ตของแต่ละหน้าใน PowerPoint
  • นำระบบไปให้พี่หนึ่ง เจ้าหน้าที่จัดการคำร้องในห้องฟ้า ลองใช้งาน เพื่อเก็บข้อมูลเผื่ออาจารย์สงสัยอะไร และเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงระบบต่อในเฟส 2 ด้วย
  • ที่สำคัญคือเข้าไปนั่งฟังการคอมเมนต์กลุ่มอื่นๆ และนำมาปรับใช้
วางแผนก่อนพรีเซนต์ ISAD

เราไม่อยากให้มีอะไรพลาด อยากให้มันราบรื่น เราจึงตั้งใจวางแผนกันมาก และเมื่อถึงเวลานำเสนอจริง เราก็ทำตามแผนที่วางไว้และทำเวลาได้ดี สาธิตไหลลื่นถึงจะมีบั๊กแค่อย่างเดียว เป็นบั๊กเกี่ยวกับแคช และมันก็เป็นแค่จุดเล็กๆ ด้วย

สุดท้าย เราจึงเป็นกลุ่มแรกของวันนั้นที่ได้คะแนนโบนัส 3 คะแนนไป ตามเงื่อนไขว่าระบบทำงานได้ครบถ้วน และรันในคอมฯ ของห้องได้

“โอเคครับ ครบถ้วนตรงตามที่ต้องการ” — อ.มานพ

พอจบการนำเสนอแล้วก็โล่งงงงง ดีใจ คือที่เตรียมกันมาสุดๆ มันคุ้ม ก็พร้อมสำหรับการสอบปลายภาค (และปิดเทอม) แล้วฮะ!! 🤟

แถม 1

ในเฟสสอง เราก็อยากจะทำให้มันจองแบบหลายวันได้ในคราวเดียวได้ และก็มีฟีเจอร์อื่นเพิ่มด้วย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะว่างทำกันอีกเมื่อไร เพราะเราก็อยากพักกัน 😂🤦‍♂️ เอาเป็นว่าก็พักก่อน

แถม 2

เอกสารในวิชา ISAD https://issuu.com/zartre/docs/isad-kmitl_osrs

📮 Have new posts emailed to you


Posted in

by

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.