ครึ่งเทอมแรก เฟรชชี่ไอทีลาดกระบัง

ตอนนี้ก็ผ่านไปครึ่งเทอม 1/2559 แล้ว แสดงว่าก็ผ่าน #midtermcrisis มาแล้วเรียบร้อยนั่นเอง รู้สึกว่ามันเร็วมากเลย เปิดเทอม 1 ส.ค. เรียนมาเดือนครึ่งก็สอบกลางภาคละ ก็ถือโอกาสนั่งว่างๆ นี้มาเขียนบล๊อกต่อเลยดีกว่า

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำวิชาที่เรียนในปี 1 กันก่อน (เนื้อหาที่เรียนขอเขียนจากที่เรียนมาในกลางภาคอย่างเดียวนะ เพราะอาจจะไม่เหมือนปลายภาค)

ปล. บล๊อกนี้ยาว

วิชา PSIT

Problem-Solving in Information Technology เป็นวิชาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมโดยตรง ในเทอมนี้เรียนภาษา Python ซึ่งโครงสร้างของภาษาง่ายมาก แต่ที่ยากคือการแก้โจทย์ จะทำอย่างไรให้เขียนการแก้ปัญหาออกมาเป็นโปรแกรมได้ ซึ่งในคาบที่เป็นแล็บเราจะได้เขียนโปรแกรมคู่กับแพร์ (เป็นการทำ pair programming) ที่ถูกสุ่มใหม่ทุกสัปดาห์ และมีการประเมินแพร์ในแต่ละสัปดาห์

อย่าลืมเช็คชื่อด้วยลายนิ้วมือในคาบแล็บนะครับ

วิชา ICS

Introduction to Computer Systems เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ โลจิกเกท ซึ่งค่อนข้างใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ในการทำความเข้าใจ เพราะมีการลดรูปสมการบูลีนและการพิสูจน์สมการ คือเรียนเกี่ยวกับตรรกศาสตร์ล้วนๆ แต่เป็นเวอร์ชันคอมพิวเตอร์

วิชานี้คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ายาก เรื่องที่เรียนก็มีการเขียนตารางค่าความจริง การลดรูปสมการบูลีนด้วย Karnaugh Map การบวกลบเลขฐานสอง การเขียน Schematic Diagram และการเขียน Digital Timing Diagram เป็นต้น

แล็บของวิชานี้เป็นการต่อวงจรด้วยโปรแกรม Logisim ซึ่งเราได้เข้าแล็บกันครั้งเดียวและควิซอีกประมาณสองครั้งเพราะชนกับกิจกรรมหลายอย่างมาก (วันพฤหัสบดี)

วิชา ITF

Information Technology Fundamentals เป็นวิชาที่เรียนเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในครึ่งเทอมแรกเราก็เรียนเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ประเภทคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ การให้บริการโซลูชันแบบต่างๆ (SaaS, IaaS, PaaS, DaaS) โดยรวมจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่เจาะลึกลงไป

แล็บของวิชานี้ในครั้งแรกเป็นการแกะคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปดูชิ้นส่วนภายใน ครั้งต่อๆ มาก็เป็นการติดตั้ง Ubuntu พร้อมเว็บเซิร์ฟเวอร์ และการใช้ซอฟต์แวร์อย่าง Word และ Excel ให้เป็นการเป็นงานขึ้น

ตอนนี้เนื้อหาของครึ่งเทอมหลังก็แง้มออกมาแล้ว วิชาที่ดูใสๆ ก็เริ่มแผลงฤทธิ์…

วิชา MathDL

Mathematics and Computer for Daily Life เป็นวิชาที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาคณิตศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมีเพียงคาบแรก (และสองด้วยมั้ง) เท่านั้นที่เราได้เรียนคณิตศาสตร์กัน (คำนวณภาษี) หลังจากนั้นก็กลายเป็นธุรกิจ การตลาด การบริหารองค์กร หุ้น ในแต่ละคาบก็ทำให้พวกเราได้เซอร์ไพรส์กันทุกครั้งว่า “นี่เรียน Math เหรอ”

วิชา BFIT

Business Fundamentals for Information Technology เรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ ซึ่งเนื้อหาทับซ้อนกับ MathDL พอสมควร จนเราเรียกกันว่าเป็น “Math เพิ่มเติม” เพราะถึงจะคล้ายกันแต่เนื้อหาลงลึกไปในทางธุรกิจมากกว่า ก็เรียนเกี่ยวกับภาษี ค่าเสื่อมราคา การตลาด การคำนวณดอกเบี้ย

วิชานี้ได้กระแสตอบรับมากมายว่ายากเช่นกัน จริงๆ อาจจะเป็นว่ามันไม่ได้ยากมากแต่มีเนื้อหาให้จำเยอะก็ได้ (สูตรคำนวณดอกเบี้ยก็มีประมาณ 5 สูตรแล้ว)

วิชา FE1

Foundation English 1 ถือเป็นวิชาพื้นฐานที่เรียนกันทุกคณะ (รึเปล่า?) เนื้อหาก็เป็นระดับมัธยมฯ tense ต่างๆ และ reading เรียนด้วยหนังสือ Life Intermediate B1+ ที่มีภาพสวยงามจาก National Geographic และซีดีหนึ่งแผ่น

ออดิทอเรียมหนึ่งวันก่อนงาน Open House 2016

การเรียน

ในการเรียนแต่ละวิชาที่มีแล็บก็จะมี TA (Teaching Assistant) คอยให้คำแนะนำและดำเนินการสอนควบคู่ไปกับอาจารย์ ใครมีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษา TA ประจำวิชาได้เลย ซึ่ง TA ส่วนใหญ่ก็มีเฟซบุ๊กให้ติดต่อได้อยู่แล้ว

วิชา BFIT และ ICS มีการจัดติวก่อนสอบ วิชาแรกติวโดยพี่ปีสอง อีกวิชาพี่ TA ติวให้ ซึ่งเรารู้สึกว่าดีนะ มันได้บรรยากาศของการช่วยการเรียน คือก่อนหน้านี้ก็ได้ยินมาว่ามหา’ลัยมันตัวใครตัวมันนะ ไม่ได้ช่วยกันเหมือนตอนมัธยมฯ แต่จากที่เห็นที่นี่ก็รู้สึกเลยว่ามันไม่ใช่นะ มันคนละเรื่องเลย ทุกคนพร้อมจะช่วยกัน

สำหรับการเลคเชอร์ จะจดในสมุด แล็ปท็อปหรืออะไรก็ได้ ส่วนตัวใช้ Surface Pro รุ่นดึกดำบรรพ์ในการจดด้วย OneNote ก็พบว่าสะดวกดี สามารถย้ายข้อความที่จดไปไว้ตรงไหนก็ได้ แทรกโค้ดก็ได้ คิดเลขในตัวได้อีก สามารถซิงค์ผ่าน OneDrive ไปเปิดดูบนมือถือ แล็ปท็อปและเดสก์ท็อปที่บ้านได้สะดวก อีกแอพที่จดสนุกและสวยแต่ไม่สะดวกเท่าก็คือ Bamboo Paper (ย้ายออบเจ็กต์ไม่ได้) สำหรับการ annotate ลง PDF ก็ใช้แอพ Squid และ Reader ได้ด้วย

สังคม

หลังจากเข้ามาได้สักพักก็สัมผัสได้ว่าคนส่วนใหญ่มีแพชชันแรงกล้า แต่ละคนดูมีความสนใจและเป้าหมายที่เข้ามาเรียนที่นี่อย่างเห็นได้ชัด เพื่อนๆ ก็ดูเฟรนด์ลี่นะ เฮฮาดีมาก (บ้ากันหมด 😂😂) มันเหมือน ม.ปลาย ในเวอร์ชันที่โตขึ้นและจริงจังกับการเรียนมากขึ้น คนที่เก่งไม่ได้หยิ่ง รุ่นพี่เข้าถึงได้ง่าย อาจารย์มีมนุษยสัมพันธ์ดี และด้วยความที่คณะเรามีอยู่ตึกเดียว (ถ้าไม่นับโรงอาหาร) ส่วนใหญ่เราก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากันหมด ถึงจะยังรู้จักเพื่อนในชั้นปีเดียวกันไม่ครบก็เถอะ (ยังงงอยู่เลยเวลามีคนมาทัก อารมณ์แบบ เฮ้ยนี่เพื่อนเราเหรอ)

แต่แน่นอนว่าในสังคมใหญ่ที่รวมคนจากหลายที่มาอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีความขัดแย้งกันบ้างบางทีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้กันไป เพราะสังคมมันก็ต้องมีมุมงี่เง่า มุมดราม่าของมันบ้างแหละ

ป.ล. เน็ตเร็วถึง 600 Mbps* และมี Wi-Fi ครอบคลุมทั้งคณะยกเว้นร้านป้าไม่ได้อะไรเลย (แม้กระทั่ง Wi-Fi)

*ความเร็วจากสายแลน

📮 Have new posts emailed to you


Posted in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.