Nathan’s 10 Years with the Web

เมื่อวานถือว่าครบรอบสิบปีที่เราอยู่กับเว็บมา เลยขอเอามาเล่า มาบันทึกไว้ในบล๊อกนี้ก็แล้วกัน

My new ‘block’ 😂

ปลายปี 2551 เด็ก ป.5 คนหนึ่งกำลังอ่านวารสาร หนึ่งเดียวของโรงเรียนอยู่ เขาเจอบทความสอนสร้างบล๊อกด้วย Blogspot ก็เลยลองสมัครและสร้างบล๊อกแรกในชีวิตขึ้นมาตามบทความนั้น แล้วก็ลองสร้างขึ้นมาอีกสองสามอัน แล้วไปโพสต์เนื้อหาในนั้น ซึ่งเป็นการ์ตูนที่วาดในกระดาษ สแกน แล้วอัปโหลดขึ้นไป

ในตอนนั้น บล๊อกต่างๆ ก็จะมีหน้าตาธรรมดาๆ ไม่หวือหวาหรือโมเดิร์นแบบสมัยนี้ และก็จะมีการแต่งบล๊อกด้วยวิดเจ็ตต่างๆ เช่น เกมแฟลช บ่อปลา เพลง ตัวนับผู้เข้าชม เป็นต้น ถ้าย้อนกลับไปดูหรือมีใครได้เขียนบล๊อกในยุคนั้นก็จะรู้สึก nostalgia มากๆ

นอกจากจะเขียนใน Blogspot แล้ว ก็มีสลับไป Exteen อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปเขียนบน WordPress แล้วมาลงเอยที่ Medium เป็นที่ล่าสุดอย่างที่เห็นกัน

เชื่อหรือไม่ว่าทั้งหมดที่กล่าวมาข้างบนนี้ กระทำผ่านอินเทอร์เน็ต 56K สุดมหัศจรรย์ หรือถ้าเร็วขึ้นมาหน่อยก็เป็นช่วง Exteen ที่เปลี่ยนมาใช้ AirCard ของ AT&T แล้วใส่ซิม AIS ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มี 3G นะ ใช้ GPRS นั่นแหละ แล้วเชื่ออีกหรือไม่ว่าดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์ iPod Touch ผ่าน 56K และ AirCard ก็เคยทำมาแล้ว! (รอไปได้ไง)

ช่วงที่เขียนบน Exteen (หรือ WordPress?) เป็นปี 2553 ตอนนั้นเปลี่ยนมาใช้ MacBook Late 2008 แล้ว ส่วนเครื่องเก่า Compaq Presario V4000 ก็เป็นน้องใช้เขียนบล๊อกของตัวเอง (ขยันกันจัง)

ภาพปี 2010 จากบล๊อกเก่า

เรียนเขียนเว็บ

ปี 2552–2553 เนี่ย ก็มีไปเรียนเขียนเว็บที่สถาบัน ICT ที่เสรีเซ็นเตอร์ด้วย (พาราไดซ์พาร์คนั่นเอง) เอาจริงๆ แล้วคือตอนไปทีแรกก็บอกเขาว่าอยากเรียนเขียนเว็บนั่นแหละ แต่เขามาถามก่อนว่ารู้จัก Photoshop มั้ย รู้จัก Flash มั้ย ตอนนั้นก็ไม่เคยใช้หรอก เขาเลยให้เริ่มที่ Photoshop ก่อน แล้วถึงได้ไปเรียน Dreamweaver เสร็จแล้วก็อยากเรียนอีกเลยต่อ Flash ด้วยเลย

กำเนิด Thai App Update

ในปี 2553 อีกเหมือนกัน (ม.1) ก็ได้กำเนิดบล๊อกใหม่อีกในชื่อ Doba’s Diary เป็นบล๊อกข่าวไอทีบน WordPress พอผ่านไปเดือนหนึ่งก็ตัดสินใจเอามาโฮสต์เอง ซื้อโฮสต์ซื้อโดเมน ติดตั้ง WordPress อะไรเรียบร้อย เว็บก็มีคนอ่านมาตลอด ก็รู้สึกสนุกดีที่ได้เขียนข่าว

ปลายกันยายน 2554 (ก่อนจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในไทย) ก็เปลี่ยนชื่อเว็บใหม่เปลี่ยนโดเมนใหม่เป็นเว็บ Thai App Update จะได้ตรงกับเนื้อหาและมีความโปรเฟชชันนอลขึ้น เว็บนี้เกิดขึ้นมาเพราะในตอนนั้นถือเป็นยุคแรกๆ ของสมาร์ทโฟนในไทย เว็บเกี่ยวกับแอปพลิเคชันก็มีชัดๆ อยู่แค่สามเว็บ เราก็อยากจะมาเป็นเว็บบุกเบิกในสายนี้เหมือนกัน

นอกจาก Thai App Update แล้ว ที่ผ่านมาก็มี techCarrot, DroidSquare และ WinSlash ด้วย แต่ก็ทำมาได้เว็บละปีเดียว เพราะไม่มีเวลาอัปเดตเนื้อหา ช่วงนั้นยังเรียนมัธยมอยู่ด้วย ก็เลยมีการบ้านมีงานเยอะ

เขียนเว็บแบบ.. เขียนเว็บจริงๆ

ถ้าพูดถึงการทำเว็บในความหมายว่าเขียนมันขึ้นมาเลย ไม่ใช่ด้านทำเนื้อหา เอาจริงๆ ก็ไม่ได้เขียนบ่อยมากเท่าไร แต่ก็เขียนแบบเรื่อยๆ พอมีสกิลล์ HTML และ CSS ที่ดีอยู่ ตอน ม.ปลาย วิชาคอมพิวเตอร์มีเรียนเขียนเว็บ แต่สกิลล์มากระโดดจริงจังก็ตอนขึ้นมหา’ลัยเพราะมีงานเกี่ยวกับเว็บเยอะมาก เลยมีชาเลนจ์ใหม่ๆ ให้ฝึกตัวเอง

ตอนปีหนึ่งได้เขียน PHP แบบจริงจังเพราะทำโปรเจ็กต์ด้วย Laravel (จากที่ไม่เคยเขียนจริงๆ มาก่อนเลย) ก็เลยได้ทักษะ PHP มาอยู่ ผ่านการไปดูคอร์ส Laravel ใน Laracasts แต่ด้วยความที่ไม่ได้เขียนบ่อยก็ต้องไปรื้อฟื้นหน่อยถ้าต้องใช้อีก นอกจาก PHP แล้วก็ลอง jQuery เอาไว้ใส่ลูกเล่นอะไรให้เว็บ (ซึ่งตอนนั้นยังงงๆ JavaScript อยู่นะ) พอเทอมสองก็มีโปรเจ็กต์เป็นเว็บ Rainy Chat ซึ่งก็ใช้ Vue ด้วย (เรียนมาจาก Laracasts อีกเหมือนกัน) แล้วก็เริ่มใช้ Sass และ Gulp

นอกจากงานในคณะแล้ว ก็ยังได้ทำเว็บ TEDxKMITL 2016 ด้วยนะ เป็น Laravel แต่งานในส่วนของเราจะเน้น HTML กับ CSS มากกว่า

สิ่งที่ทำให้เขียน JavaScript เป็นเนี่ย หลักๆ คือเริ่มมาจาก Vue เลย ตอนนั้นก็งงๆ อยู่บ้างว่าอันไหนคือ syntax บังคับของ Vue และอันไหนคือของ JS แล้วก็เรียนรู้มาเรื่อยๆ เพราะงานส่วนใหญ่จะใช้ JS หมดเลยด้วยความที่มีระยะเวลาทำเพียงสั้นๆ

ขึ้นมาปีสองได้ทำงานกับ JavaScript มากขึ้นเพราะมีโปรเจ็กต์อีกเช่นกัน และก็มีงานนอกอีก ทำให้ได้ความรู้ JavaScript แบบก้าวกระโดดมากๆ รวมทั้งยังได้เริ่มใช้ Node และคณะอย่าง Express ด้วย ในโปรเจ็กต์ทำเว็บจองห้อง ด้านหน้าเป็น Node + Express (เพื่อทำ SSR) ต่อกับ API ที่เป็น Scala (โซโล่โดย Kavin) ถือว่า JS หนักมากในงานนี้ ได้จัดการ structure ของแอพเป็นระเบียบ เป็นโมดูลขึ้น

ในปีสามก็เริ่มใช้ Firebase และ Vue ที่ซับซ้อนขึ้น เริ่มเขียน Vue แบบ SPA แล้วก็ได้ไปลอง Parse Platform ของ Facebook ด้วย ชอบมากเพราะควีรี่ดาต้าเบสแบบรีเลชันนอลได้ง่ายๆ เลย

ส่งท้าย

ตั้งแต่เน็ตที่บ้านใช้ 56K ไป AirCard ไป ADSL ไป DOCSIS ไป VDSL แล้วตอนนี้ Fibre เนี่ย โลกของเว็บหมุนไปเร็วมาก บางเรื่องก็มีตามไม่ทันบ้าง สิ่งที่สนุกคือการที่เราจับอะไรได้บางอย่างแล้วใช้เวลาลงลึกไปกับมัน ให้ได้รู้สึกว่าเรามีพื้นฐานตรงนี้ มีเรื่องนี้ที่เราทำได้ดี แล้วก็ยังได้เรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ อีก ตรงนี้มันคือความสนุก

สิบปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีเว็บพัฒนาไปเยอะมาก เราเล่นเกมบนเว็บได้ เราทำพาวเวอร์พอยท์บนเว็บได้ เราดู Virtual Reality บนเว็บได้ เราสร้างแอพเดสก์ท็อปและมือถือด้วยภาษาเว็บได้ เราสร้างเกมเว็บที่เล่นกับฮาร์ดแวร์มือถือได้ เราทำอะไรได้หลายอย่างมากๆ กับสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่หยุดนิ่งนี้

สำหรับสิบปีนับจากนี้ ขอเดาว่าเว็บก็จะยังอยู่ ไม่ไปไหน และจะทำอะไรได้มากขึ้นไปอีก เบราว์เซอร์อาจจะรันเว็บแอพที่ความเร็วเหมือน C ก็ได้ เวอร์ไปไหม แต่ใครจะไปรู้ล่ะ… ว่าไหม

ในโลกของเว็บยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ยังไม่เคยลอง แล้วก็แน่นอนว่าเราก็อยากหาโอกาสลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด การได้เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชำนาญกว่าเรา ก็เป็นสิ่งที่คอยเตือนว่าเราต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุด

อีกสิบปีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน จนกว่าจะถึงวันนั้น… Keep Learning ครับ

📮 Have new posts emailed to you


Posted in

by

Tags:

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.